Todorov, Stanko (1920–1996)

นายสตันโค โตโดรอฟ (พ.ศ. ๒๔๖๓–๒๕๓๙)

 สตันโค โตโดรอฟ เป็นนายกรัฐมนตรีบัลแกเรีย (ค.ศ. ๑๙๗๑–๑๙๘๑) ประธานสภาแห่งชาติ (ค.ศ. ๑๙๘๑–๑๙๙๐) และรักษาการประธานาธิบดี (ค.ศ. ๑๙๙๐) ในช่วงเตรียมการเลือกประธานาธิบดีเขาเป็นสหายสนิทที่โตดอร์ จิฟคอฟ (Todor Zhivkov)* เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรียไว้วางใจ และมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนจิฟคอฟให้ปกครองประเทศโดยยึดสหภาพโซเวียตเป็นแม่แบบโตโดรอฟเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับองค์การแนวร่วมเพื่อปิตุภูมิ (Fatherland Front) เพื่อต่อต้านเยอรมนีใน ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๓ ก่อนสหภาพโซเวียตยุบเลิกองค์การโคมินเทิร์น (Comintern)* ไม่นานนัก โตโดรอฟก็เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรีย (Bulgarian Communist Party–BCP)* หลังสงครามโลกสิ้นสุดลงพรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรียได้อำนาจการปกครองประเทศ โตโดรอฟเป็นผู้ปฏิบัติงานพรรคที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วโดยสังกัดกลุ่มของจิฟคอฟที่ต่อต้านการดำเนินนโยบายคอมมิวนิสต์อิสระของยอซีป บรอซ หรือตีโต (Josip Broz; Tito)* ผู้นำยูโกสลาเวีย

 โตโดรอฟเกิดในครอบครัวชนชั้นแรงงานที่หมู่บ้านเคลโนวิค (Klenovik) เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ บิดาเป็นกรรมกรเหมืองถ่านหิน เขาเป็นบุตรคนเดียวของครอบครัวและต้องทำงานหนักตั้งแต่วัยเยาว์ ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ โตโดรอฟในวัย ๑๖ ปี ไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าที่กรุงโซเฟีย (Sofia) เมืองหลวงและได้งานเป็นลูกมือร้านตัดเย็บเสื้อผ้า เขามีโอกาสเข้าศึกษาในโรงเรียนภาคค่ำของคนงานและรู้จักสนิทกับเพื่อนรุ่นพี่ที่แนะนำให้เขาสนใจแนวความคิดสังคมนิยมเขาอ่านงานนิพนธ์ของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* นักสังคมนิยมเรืองนามและวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำสหภาพโซเวียต ทั้งเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพเยาวชนคอมมิวนิสต์บัลแกเรีย (Bulgarian Communist Youth Union) ซึ่งเป็นองค์การสังกัดพรรคแรงงานบัลแกเรีย (Bulgarian Workers’ Party–BWP) หรือชื่อที่เป็นทางการในเวลาต่อมาว่าพรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรีย

 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ บัลแกเรียเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีและร่วมลงนามในกติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์น (Anti-Comintern Pact)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๑ โตโดรอฟเป็นทหารในกองทัพบัลแกเรียและในขณะเดียวกันก็เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพเยาวชนปฏิวัติ (Union of Revolutionary Youth–URY) ของพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อเคลื่อนไหวกับกลุ่มแนวร่วมต่าง ๆ ต่อต้านเยอรมนีตามคำสั่งขององค์การโคมินเทิร์น เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์เป็นแกนนำในองค์การแนวร่วมปิตุภูมิที่ต่อต้านนาซีใน ค.ศ. ๑๙๔๓ โตโดรอฟหนีทหารและเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์เต็มตัว ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๔ สหภาพโซเวียตประกาศสงครามกับบัลแกเรียเพื่อขยายอิทธิพลเข้าไปในกรีซและตุรกีโดยเดินทัพผ่านบัลแกเรีย โตโดรอฟร่วมมือกับจิฟคอฟจัดตั้งหน่วยติดอาวุธรักชาติขึ้นเพื่อซุ่มโจมตีกองทัพเยอรมันและเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล เมื่อกองทัพแดง (Red Army)* เข้าปลดปล่อยบัลแกเรียจากการยึดครองของเยอรมนีในปลาย ค.ศ. ๑๙๔๔ โตโดรอฟช่วยเตรียมการและร่วมกับขบวนการต่อต้านนาซีเคลื่อนไหวยึดอำนาจโค่นรัฐบาลได้สำเร็จ กองทัพแดงซึ่งประจำการในบัลแกเรียก็สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรียให้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นปกครองประเทศ

 ในการเลือกตั้งทั่วไปหลังสงครามองค์การแนวร่วมพิทักษ์ปิตุภูมิที่มีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นแกนนำได้เสียงข้างมากและจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ โดยสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนบัลแกเรียขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๖ เกออร์กี ดิมีทรอฟ (Georgi Dimitrov)* ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรียได้เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๖–๑๙๔๙ ส่วนโตโดรอฟดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหภาพเยาวชนปฏิวัติในเขตกรุงโซเฟียระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๔–๑๙๔๗ และใน ค.ศ. ๑๙๕๐ เป็นเลขาธิการคณะกรรมาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เขตกรุงโซเฟีย เขาสนับสนุนจิฟคอฟเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเขตกรุงโซเฟียกวาดล้างพรรคการเมืองอื่น ๆเพื่อให้พรรคคอมมิวนิสต์มีอำนาจเด็ดขาดเพียงพรรคเดียว

 หลังอสัญกรรมของโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๓ ปัญหาการสืบทอดอำนาจได้นำไปสู่ความขัดแย้งภายในพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตระหว่างเกออร์กี มาเลนคอฟ (Georgi Malenkov)* นีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev)* และลัฟเรนตี เบเรีย (Lavrenty Beria)* ครุชชอฟซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพสามารถกำจัดคู่แข่งทางการเมืองได้ในที่สุดและหลังการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตครั้งที่ ๒๐ (Twentieth Congress of the Communist Party of the Soviet Union)* ครุชชอฟได้เริ่มนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-Stalinization)* ในสหภาพโซเวียตและรัฐบริวารโซเวียตทั้งปรับนโยบายต่างประเทศให้ยืดหยุ่นมากขึ้น จิฟคอฟได้รับการสนับสนุนให้เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรีย เขาจึงสนับสนุนโตโดรอฟสหายสนิทให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร (ค.ศ. ๑๙๕๒–๑๙๕๗) และเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางพรรค (ค.ศ. ๑๙๕๗) ตลอดจนสมาชิกโปลิตบูโร (ค.ศ. ๑๙๖๑) โตโดรอฟได้นำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี (Five Year Plan)* ของสหภาพโซเวียตเป็นแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมและการเกษตร ทั้งสนับสนุนแนวความคิดของจิฟคอฟในการนำนโยบายก้าวกระโดดไปข้างหน้า (Great Leap Forward) ของเหมา เจ๋อตง (Mao Zedong) มาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มผลผลิตด้านเกษตรกรรมและระดมแรงงานชนบทมาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ

 อย่างไรก็ตาม แผนพัฒนาเศรษฐกิจแบบผสมผสานดังกล่าวก็ประสบความสำเร็จไม่มากนักและกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยก็เคลื่อนไหวต่อต้านแต่รัฐบาลสามารถแก้ไขและควบคุมปัญหาความขัดแย้งภายในได้ ใน ค.ศ. ๑๙๖๒ มีการปรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจโดยนำ “ระบบการจัดการใหม่” (New System of Management) ที่ให้เอาค่าจ้าง โบนัส และเงินทุนมาบริหารจัดการเพื่อผลกำไรและให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจตัดสินใจมากขึ้นแทนการควบคุมจากส่วนกลางทั้งเปิดโอกาสให้กู้ยืมสินเชื่อจากธนาคารได้แทนการพึ่งงบประมาณจากรัฐอย่างเดียว ระบบการจัดการใหม่ประสบความสำเร็จอย่างมากเพราะเศรษฐกิจเติบโตขยายตัวทั้งผลผลิตด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมเพิ่มมากขึ้น

 ใน ค.ศ. ๑๙๖๘ เมื่ออะเล็กซานเดอร์ ดูบเชก (Alexander Dubček)* เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ เชโกสโลวัก (Czechoslovak Communist Party–CCP) เริ่มปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยทางด้านต่าง ๆ ซึ่งเรียกการปฏิรูปที่เกิดขึ้นครั้งนี้ว่าฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปราก (Prague Spring)* สหภาพโซเวียตได้ส่งกองทัพขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Treaty Organization)* บุกเชโกสโลวะเกียในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๘ เพื่อบังคับดูบเชกให้ยุติการปฏิรูปประเทศโตโดรอฟสนับสนุนให้ส่งกำลังทหารเข้าร่วมปฏิบัติการครั้งนี้ เพราะเห็นว่าเป็นการคุกคามความมั่นคงของฝ่ายสังคมนิยม เขาเรียกร้องให้จิฟคอฟปราบปรามกลุ่มปัญญาชนที่เคลื่อนไหวต่อต้านสหภาพโซเวียต และจับกุมฝ่ายที่ต่อต้านไปใช้แรงงานในค่ายกักกัน (Concentration Camp)* ใน ค.ศ. ๑๙๗๑ มีการแก้ไข “รัฐธรรมนูญดิมีทรอฟ” (Dimitrov Constitution)ที่ใช้ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๗ สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญใหม่คือ บัลแกเรียเป็นรัฐสังคมนิยมของชนชั้นแรงงานที่มีพรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรียมีอำนาจสูงสุดและเป็นแกนนำทางสังคมบัลแกเรีย เป็นสมาชิกของประชาคมสังคมนิยม มีสภาแห่งรัฐ (state council) ที่ใช้อำนาจด้านนิติบัญญัติและด้านบริหารผ่านประธานสภาซึ่งเทียบเท่ากับตำแหน่งประธานาธิบดีรัฐธรรมนูญค้ำประกันสิทธิของพลเมืองทุกคนทางด้านต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชนชั้นแรงงานและการเสริมสร้างระบอบสังคมนิยม รัฐธรรมนูญฉบับนี้เรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญจิฟคอฟ” (Zhivkov Constitution) นอกจากนี้ มีการประกาศหลักนโยบายใหม่ของพรรคที่จะนำพาพรรคและประเทศไปสู่ขั้นตอนการสร้างระบอบสังคมนิยมที่เป็น “สังคมนิยมที่มีเอกภาพ” (unification socialist society) โดยเน้นการพัฒนาความสมดุลของชีวิตชนบทกับเมืองทั้งด้านกายภาพและแรงงาน การนำเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์มาเพิ่มผลผลิตและอื่น ๆ รัฐธรรมนูญจิฟคอฟและหลักนโยบายใหม่ของพรรคเป็นกฎหมายสูงสุดและแนวทางการสร้างประเทศจนถึง ค.ศ. ๑๙๘๙ จิฟคอฟดำรงตำแหน่งประธานสภาแห่งรัฐและเขาแต่งตั้งโตโดรอฟเป็นรองประธานซึ่งเทียบเท่ากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมทั้งสมาชิกพรรคที่ไว้วางใจและสหายสนิทเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในองค์การพรรค

 ใน ค.ศ. ๑๙๗๕ จิฟคอฟแต่งตั้งลูย์ดมีลา จิฟโควา (Lyudmila Zhivkova) บุตรสาววัย ๓๐ ปี ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ สมาชิกโปลิตบูโร และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และศิลปะตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๗๒ ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และศิลปะ ลูย์ดมีลาสำเร็จการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลปะจากมหาวิทยาลัยโซเฟียและมหาวิทยาลัยมอสโก ทั้งเคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับตุรกีที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เธอแต่งงาน ๒ครั้ง มีบุตรสาวและบุตรชายอย่างละ ๑ คน เธอมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมบัลแกเรียให้เป็นที่แพร่หลายทั้งในและนอกประเทศ ในช่วงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เธอปรับปรุงงานบริหารให้คล่องตัว และเปิดโอกาสให้ศิลปินมีอิสระในการสร้างสรรค์งานโดยไม่ต้องยึดกรอบแนวความคิดสัจนิยมแนวสังคมนิยม (Socialist Realism)* ทั้งให้เสรีภาพในการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อหาประสบการณ์ เธอผลักดันการจัดตั้งหอศิลป์แห่งชาติ (National Gallery of World Art) ขึ้นที่กรุงโซเฟีย เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมและสะสมงานศิลปะจากยุโรปและสนับสนุนการจัดนิทรรศการศิลปะบัลแกเรียไปแสดงนอกประเทศ รวมทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับประเทศตะวันตกในช่วงดำรงตำแหน่งโตโดรอฟทำงานใกล้ชิดกับเธอเพราะเขาคาดคะเนว่าเธอจะได้เป็นผู้สืบทอดอำนาจจากจิฟคอฟ แต่ลูย์ดมีลาเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยอุบัติเหตุจมน้ำ คาดว่าสหภาพโซเวียตอยู่เบื้องหลังการเสียชีวิตครั้งนี้

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๗–๑๙๗๘ เมื่อกลุ่มกฎบัตร ๗๗ (Charter 77)* ซึ่งเป็นกลุ่มสิทธิมนุษยชนในเชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia)* เคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลคอมมิวนิสต์เช็กปล่อยตัววาซลาฟ ฮาเวล (Vaclav Havel)* นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งถูกจับกุมด้วยข้อหาเป็นจารชนและลักลอบส่งงานเขียนต้องห้ามไปพิมพ์เผยแพร่นอกประเทศ กลุ่มปัญญาชนในบัลแกเรียจึงเคลื่อนไหวสนับสนุนกฎบัตร ๗๗ และให้ปล่อยตัวฮาเวล โตโดรอฟเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของสหภาพโซเวียตที่ให้สกัดกั้นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะส่งผลกระทบต่อความเป็นเอกภาพของค่ายสังคมนิยม เขาสนับสนุนให้ปราบปรามและสลายการเคลื่อนไหวของปัญญาชน

 ใน ค.ศ. ๑๙๘๕ เมื่อประธานาธิบดีมีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev)* ผู้นำสหภาพโซเวียตที่สืบทอดอำนาจจากคอนสตันติน เชียร์เนนโค (Konstantin Chernenko)* ดำเนินการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยในด้านต่าง ๆ ตามนโยบายกลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา (Glasnost-Perestroika)* ทั้งผ่อนคลายการควบคุมประเทศยุโรปตะวันออก พรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรียปฏิเสธที่จะดำเนินการปฏิรูปประเทศจนกว่าจะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ตามการที่บัลแกเรียเผชิญกับวิกฤตการณ์พลังงานในช่วงฤดูหนาว ค.ศ. ๑๙๘๕ และการปิดข่าวเรื่องอุบัติเหตุเชียร์โนบีล (Chernobyl Accident)* ที่เกิดขึ้นในสหภาพโซเวียต ค.ศ. ๑๙๘๖ ซึ่งสารกัมมันตภาพรังสีได้แพร่กระจายไปในวงกว้าง รวมทั้งการเกิดแผ่นดินไหวในปลาย ค.ศ. ๑๙๘๖ ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือเชื่องช้าซึ่งนำไปสู่การต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ ต่อมา เมื่อประชาชนในประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ เริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศและต้องการแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตจนนำไปสู่การเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ (Revolutions of 1989)* การเคลื่อนไหวต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรียรุนแรงมากขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๙๘๙ และขยายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศ โตโดรอฟจึงร่วมมือกับเปตูร์ มลาดานอฟ (Petur Mladanov) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอให้ปลดจิฟคอฟออกจากตำแหน่งและขับออกจากพรรคเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๙ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่กำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall)* ถูกทุบทำลาย มลาดานอฟได้เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แทนและเขาประกาศจะปฏิรูปทางการเมืองและให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๐

 ในการเลือกตั้งทั่วไปเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๐ โตโดรอฟได้รับเลือกเป็นสมาชิกรัฐสภาด้วยและในระหว่างการเตรียมการเลือกประธานาธิบดี เขาได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่รักษาการประธานาธิบดี (๖ กรกฎาคม–๑๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๐) และต่อมาเปตูร์ มลาดานอฟได้เป็นประธานาธิบดี โตโดรอฟทำงานการเมืองจนถึงปลาย ค.ศ. ๑๙๙๐ ก็ลาออกด้วยปัญหาสุขภาพ เขาปลีกตัวจากการเมืองและสังคมไปใช้ชีวิตเงียบ ๆ กับครอบครัวจนถึงแก่อนิจกรรมที่บ้านพักในกรุงโซเฟียเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๖ รวมอายุได้ ๗๖ ปี.



คำตั้ง
Todorov, Stanko
คำเทียบ
นายสตันโค โตโดรอฟ
คำสำคัญ
- อุบัติเหตุเชียร์โนบีล
- องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ
- สหภาพโซเวียต
- สัจนิยมแนวสังคมนิยม
- สนธิสัญญาวอร์ซอ
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สตาลิน, โจเซฟ
- เลนิน, วลาดีมีร์
- ฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปราก
- กติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์น
- กลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา
- กองทัพแดง
- กลุ่มกฎบัตร ๗๗
- กอร์บาชอฟ, มีฮาอิล
- การล้มล้างอิทธิพลสตาลิน
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙
- กำแพงเบอร์ลิน
- ค่ายกักกัน
- ครุชชอฟ, นีกีตา
- โคมินเทิร์น
- จิฟคอฟ, โตดอร์
- เชียร์เนนโค, คอนสตันติน
- ดิมีทรอฟ, เกออร์กี
- ดูบเชก, อะเล็กซานเดอร์
- โตโดรอฟ, สตันโค
- นาซี
- แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี
- เบเรีย, ลัฟเรนตี
- พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต
- พรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรีย
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานบัลแกเรีย
- มากซ์, คาร์ล
- มาเลนคอฟ, เกออร์กี
- รัฐธรรมนูญจิฟคอฟ
- ยูโกสลาเวีย
- ฮาเวล, วาซลาฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1920–1996
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๖๓–๒๕๓๙
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-